Davinci Code

ตอน . . . โอปุสเดอี แท้จริงคืออะไร

ค้ดจาก วารสารอุดมศานต์
ฉบับ เดือนสิงหาคม 2006

วิถีแห่งโอปุสเดอี

ในราวต้นเดือนมีนาคม เอลิซาเบ็ธ ฮีล นักศึกษาด้านบริหารงานศิลป์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ต้องหัวร่อออกมาจนเสียอาการ ในขณะที่เธอกำลังชมตัวอย่างภาพยนตร์ ในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งแถบตอนเหนือฝั่งตะวันตกของแมนฮัตตัน

นั่นก็เพราะตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ดาวินชีโค้ด2 ซึ่งกำกับการแสดงโดย รอน ฮาวเวิร์ดและมีกำหนดออกฉายในวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม ในภาพยนตร์ตัวอย่างนั้นมีชายใบหน้าเคร่งขรึม คนหนึ่ง กำลังเอ่ยพระนามพระคริสต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และแล้วก็ โครม! เขากำลังหวดหลังที่เต็มไปด้วยเลือดของเขาด้วยแส้เก้าแฉก (Catoninetails) ตามแบบที่ใช้สำหรับการทรมานนักโทษโดยพระศาสนจักรในอดีต ที่จริงแล้วผู้กำกับคงไม่ได้ตั้งใจให้ฉากนี้เป็นฉากที่น่าขบขันแน่ๆ แต่ฮีล ซึ่งเธอนั้นคุ้นเคยกับหนังสือที่เป็นต้นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้มาก่อนแล้ว เห็นภาพนักฆ่าผิวเผือกที่ชื่อว่า ซิลาส ซึ่งเป็นวายร้ายคลั่งลัทธิผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มคาทอลิกวิตถาร ที่ชื่อว่าโอปุส เดอี เธอก็อดขันไม่ได้ เพราะเธอนั้นเป็นสมาชิกของโอปุส เดอีที่แท้จริง เธอเคยคิดว่า "มันพิสดารเกินไปจริงๆ ค่ะ ฉันเองก็อยากให้พวกเราน่าสนใจขนาดนั้นจริงๆ เลย"

โอปุส เดอีตามท้องเรื่องของรหัสลับดาวินชีนั้น เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง และยังเป็นปริศนาอยู่ในเรื่องพิธีกรรมที่ใช้ความรุนแรงทำร้ายกันและตนเอง และมีสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง ที่ก่อคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเพื่อไล่ปิดปากผู้ที่รู้ถึงความลับ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อพระศาสนจักรได้ แต่นั่นหาได้เป็นภาพสะท้อนขององค์กรที่มีอยู่จริงๆ นี้เลย (แม้ว่าในเว็บไซต์ของแดน บราวน์ผู้แต่งเรื่องนี้จะพรรณนาคำอธิบายไว้ว่า "อ้างอิงจากหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับโอปุส เดอี รวมถึงบทสัมภาษณ์สดด้วยตัวเขาเอง" ก็ตามที) แต่การสร้างบทให้คนในกลุ่มนี้เป็นจอมวายร้ายในเรื่องของเขานั้น บราวน์นั้นดูจะเลวร้ายพอๆ กับการใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ว่าเป็นอาชญากรเลยทีเดียว

คุณไม่ได้เลือกที่จะพูดถึงประธานสมาคมโรตารี่ แต่คุณกลับเลือกเอาชายลึกลับชั้นปลายแถวที่มีโรคประจำตัว และอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายสักสองสามครั้งในอดีต ซึ่งทำให้สามารถป้องกันการโต้แย้งได้ดีขึ้นมากก็จริงอยู่ สำหรับฮีลแล้ว ไม่ใช่อะไรที่จะโต้แย้งได้ยากขนาดนั้นเลย แต่ที่ได้เห็นนั้นไม่มีเค้าขององค์กรที่เธอสังกัดอยู่เลยอย่างแน่นอน

ตลอดระยะเวลา 78 ปีที่ผ่านมา โอปุส เดอีได้ตกเป็นเป้าของการร่ำลือไปต่างๆ นานา ว่าประสบความสำเร็จและลึกลับซ่อนเงื่อน องค์กรนี้เคยถูกกล่าวหาว่าใช้ทรัพย์สินที่มีอย่างมือเติบ และใช้อิทธิพลที่สั่งสมสืบทอดต่อๆ กันมา เพื่อทำทุกอย่างตั้งแต่การสนับสนุนการเป็นผู้นำเผด็จการสเปนของฟรานซิสโก ฟรังโก การผลักดันให้ผู้ก่อตั้งของกลุ่มได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญก่อนเวลาอันควร ไปจนถึงการส่งสมาชิกหัวอนุรักษ์นิยมเข้าไปเป็นสายในหลายๆ รัฐบาล ตั้งแต่วอร์ซอว์ไปจนถึงวอชิงตันอีกด้วย สิ่งที่บราวน์ทำเป็นเหมือนการสาดโคลนเหม็นใส่คนกลุ่มนี้ แบบที่ไม่มีสิ่งใดที่จะเลวร้ายไปกว่านี้ได้อีกแล้ว จนเมื่อได้มีภาพยนตร์ตัวอย่างนั้นออกฉาย

คุณฮวน มานูเอล มอรา ผู้อำนวยการแผนกสื่อสารของโอปุส เดอี ในกรุงโรมถึงกับกล่าวว่า "การอ่านจากหนังสือนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การชมภาพสีนั่นมันคนละเรื่องเลย"

แต่มอราและเพื่อนร่วมงานของเขาก็ยังไม่ได้เปิดฉากการตอบโต้ต่อกระแสที่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ คงมีเพียงการออกมาเปิดเผยสิ่งที่เคยถูกปิดเงียบไว้ขององค์กรของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาได้บันทึกการสนทนาอย่างยาวเหยียดกับจอห์น อัลเลน ซึ่งเป็นนักวิจารณ์หนังสือและโทรทัศน์ของสำนักวาติกัน ที่ได้รับความนับถือโดยทั่วไป และยังอนุญาตให้เขาสามารถเข้าถึงบันทึกและบุคลากรของโอปุส เดอี ได้อย่างที่ไม่เคยอนุญาตใครมาก่อนเลยอีกด้วย แล้วในเดือนพฤศจิกายนเขาก็ได้ออกบทความเรื่อง โอปุส เดอีn มุมมองอันจริงจังเบื้องหลังตำนานและความจริงของขุมพลัง ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นบทความที่ให้ข้อมูลที่ชัดแจ้ง และเข้าอกเข้าใจในคนกลุ่มนี้อย่างที่สุดเท่าที่เคยถูกเขียนขึ้นมาโดยบุคคลภายนอกก็เป็นได้ และนับแต่นั้นมา โอปุส เดอีก็เริ่มจะสนทนากับนักเขียนอื่นๆ อย่างเป็นอิสระมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็รวมถึงนิตยสารไทมส์ด้วย

แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการประชาสัมพันธ์ โอปุส เดอี ไม่ได้ช่วยให้ช่องว่างระหว่างเรื่องที่นักวิจารณ์กล่าวถึงพวกเขาว่าเป็นอย่างไร กับเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ นั้นแคบลงเลย กระแสหนึ่งก็ว่า มี "ออกโตปุส เดอี"3 หรือดังที่นิตยสารของฮาร์เปอร์ฉบับปัจจุบันกล่าวไว้ว่า "องค์กรที่ยึดหลักอำนาจนิยมและค่อนข้างจะทำตัวลึกลับซึ่งได้ส่งผู้ที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของกลุ่มเข้าไปเป็นข้าราชการผู้เชี่ยวชาญ นักการเมืองและนักบริหารซึ่งแทรกตัวอยู่อย่างกว้างขวางจนถึงระดับสูงสุดของรัฐ..." อีกกระแสหนึ่งก็เป็นภาพซึ่งท่านสมณทูตประจำสหรัฐฯ ของกลุ่มโอปุส เดอีนามว่าโธมัส โบห์ลิน บรรจงวาดขึ้น โดยท่านได้มานั่งสนทนากับนิตยสารไทมส์อยู่นานหลายชั่วโมง ที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่มตนเองในแมนฮัตตัน ท่านกล่าวว่า โอปุส เดอีนั้นเป็นเพียงสถานที่สำหรับสอนคำสอน เป็นเหมือนกับสถาบันการศึกษาขั้นสูง เพื่อสร้างเสริมจิตวิญญาณแบบคาทอลิก ซึ่งมีการประสานงานหรือการให้คำแนะนำในระดับนานาชาติอยู่บ้างเล็กน้อย ในระหว่างสมาชิกด้วยกันเองและผู้ที่ให้การสนับสนุนว่าจะนำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรเท่านั้น

"คุณรู้จักบทเรียนของ เดล คาร์เนกีไหมล่ะ" ท่านเอ่ยถามขึ้นมา "มีธุรกิจมากมายส่งคนของตนไปเพื่อเรียนรู้วิธีการพูดให้เก่งขึ้น ทำงานอย่างมีระบบยิ่งขึ้น เขาสอนสิ่งเหล่านี้ให้ ผู้คนต่างพากันไปที่นั่นเพราะว่าพวกเขาได้อะไรบางอย่างกลับมา แล้วเมื่อจบการศึกษา เขาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของเดล คาร์เนกีสักหน่อยนี่นา"

เจมส์ มาร์ติน บรรณาธิการของนิตยสารในสังกัดของคณะเยสุอิตที่มีชื่อว่า อเมริกา ผู้ซึ่งได้เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับโอปุส เดอีไว้อย่างเอาจริงเอาจังมาแล้ว ทำให้พบจุดกึ่งกลางระหว่างภาพพจน์ของสถานศึกษาแบบของเดล คาร์เนกีและภาพพจน์ในแนวองค์กรหมึกยักษ์ไว้ได้อย่างเหมาะเจาะ ได้กล่าวไว้ว่า "โอปุส เดอีสอนสมาชิกให้มีสภาวะทางชีวิตจิตที่เคร่งครัดอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิต" เขากล่าวอีกว่า "เป็นสัมพันธภาพอันต่อเนื่องซึ่งคอยค้ำชูและเสริมสร้างแนวความคิดแก่ชาวคาทอลิกที่ค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว นับเป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอันทรงพลังและก็ยังมีความผูกพันกันเป็นการส่วนตัวในระหว่างสมาชิกกันเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านหรือนักการเมือง โอปุส เดอีไม่ได้เป็นอาณาจักรของปีศาจ แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไม่มีประเด็นปัญหาซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขอยู่เลยเช่นกัน"

การร่วมสนทนากับนักหนังสือพิมพ์เพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะโดยอัลเลนหรือไทมส์เองก็ตาม ไม่มีทางที่จะตอบข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ เหล่านั้นได้จนหมดอย่างแน่นอน แต่ก็สามารถไขปริศนาซึ่งคอยติดตามองค์กรแห่งนี้มานานแสนนานแล้วได้บางข้อ และนี่อาจทำให้เห็นว่า ที่สุดแล้ว กลับกลายเป็นว่ารหัสลับดาวินชี ได้มาช่วยโอปุส เดอีไว้อย่างไรบ้าง

โอปุส เดอีเริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร?
ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2471 พระสงฆ์หนุ่มชาวสเปนวัย 26 ปีนามว่า โฮเซ่ มาเรีย เอสคริว่า ได้เห็นถึงวิสัยทัศน์แนวใหม่ของสภาวะทางชีวิตจิตแบบคาทอลิก นั่นคือ กระบวนการที่ฆราวาสผู้เคร่งศาสนาอยู่แล้วจะสามารถขยายความศักดิ์สิทธิ์ของวัดวันอาทิตย์ไปสู่ชีวิตการทำงานในทุกๆ วันของพวกเขาได้ ด้วยการภาวนาอย่างเคร่งครัดและการถวายผลงานของตนแด่องค์พระคริสตเจ้า คำที่เอสคริว่าใช้เรียกกระบวนการเช่นนี้มีความหมายตรงๆ ว่า โอปุส เดอี ซึ่งแปลว่า "ผลงานของพระเจ้า" และความทะเยอทะยานของเขานั้นก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน เขามองว่าโอปุส เดอีนั้นเปรียบเสมือน "การฉีดสาร (แห่งความศักดิ์สิทธิ์) เข้าสู่เส้นเลือดไปยังกระแสโลหิตของสังคม" เลยทีเดียว

เกือบจะเรียกได้ว่ากลุ่มนี้ต้องตกเป็นเหยื่อของคำวิพากษ์วิจารณ์นับตั้งแต่วันก่อตั้งเลย โอปุส เดอีเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจทางการเมืองของบรรดานักบวชคาทอลิกซึ่งให้สิทธิแก่พระสงฆ์ นักบวชและซิสเตอร์เหนือกว่าฆราวาสทั่วๆ ไป และเอสคริว่าเองก็ถูกเรียกว่าเป็นพวกนอกรีตด้วย ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.19501960 (พ.ศ.2493-2503) เมื่อมีสมาชิกผู้มีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วมกับระบอบเผด็จการในสเปนของฟรังโกซึ่งให้การสนับสนุนแก่วัด ก็ทำให้ผู้คนคาดเดาในเรื่องความโน้มเอียงทางการเมืองของกลุ่มไปต่างๆ นานา สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (พ.ศ.2505-2508) ดูจะให้ความสนใจติดตามแนวความคิดของเอสคริว่าในเรื่องการรวมตัวกันก่อการโดยกลุ่มฆราวาส แต่ด้วยใจที่ยึดมั่นในหลักคำสอนแบบคาทอลิกอย่างเหนียวแน่นของเขา ทำให้ระบบของพวกเขาอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเหนือกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีซึ่งทำให้ฆราวาสมีเสรีภาพตามความรู้สึกอย่างมาก ตัวของเขาเองนั้นมีบุคลิกแบบสองขั้วพร้อมๆ กัน เขาดูอ่อนน้อมแต่สง่า มีลักษณะเหมือนคุณลุงใจดีแต่ก็ดูก้าวร้าวน่ายำเกรง โอปุส เดอีค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคงโดยที่ชาวคาทอลิกทั่วๆ ไปไม่ได้สังเกตเห็น

แล้วในปี พ.ศ.2525 ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 พร้อมกับกลุ่มผู้ยึดถือจารีตหัวสร้างสรรค์ ซึ่งสนใจในเรื่องแรงงานและความศรัทธาได้อนุมัติตามคำขอของ เอสคริว่า ซึ่งต้องการให้โอปุส เดอีมีฐานะเป็น "คณะนักบวชอิสระ (personal prelature)" ซึ่งจะมีฐานะเท่าเทียมกับสังฆมณฑลระดับโลก แล้วในบางกรณี ก็ยังสามารถที่จะลัดขั้นตอนการติดต่อผ่านพระสังฆราชและติดต่อโดยตรงกับกรุงโรมได้เลย เกือบจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาก็ยังทรงลดทอนอำนาจของคณะเยสุอิตซึ่งเป็นคณะในระดับเท่าเทียมกันซึ่งค่อนข้างจะมีแนวคิดเสรีลง ความเชื่อที่ว่าโอปุส เดอีมีอิทธิพลในพระศาสนจักรอย่างไร้ขีดจำกัดนั้น ถึงขีดสุดเมื่อเอสคริว่าได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นบุญราศี ในปี พ.ศ.2535 ในระยะเวลาซึ่งสั้น (จากความรู้สึกของคนในสมัยนั้น) เพียง 17 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิต อัลเลนกล่าวว่าพวกที่จ้องจับผิดอยู่อ้างว่า คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งนั้นล้วนเป็นเสียงจัดตั้ง และบรรดาผู้ที่วิจารณ์เอสคริว่าก็ล้วนแต่ถูกโหวตให้ออกจากคณะทั้งสิ้น เขาเหล่านั้นมองว่าการขยับขึ้นเป็นนักบุญอย่างรวดเร็วของเขา เป็นเหมือนการเบ่งกล้ามอวดศักดา "ตามแบบอย่างของพระศาสนจักร

เหมือนกับกรณีที่จักรพรรดิโรมันพระองค์หนึ่งนามว่า พระเจ้าคาลิกูล่าได้ทรงแต่งตั้งม้าทรงของพระองค์เองให้เป็นวุฒิสมาชิก" อัลเลนเองนั้นเห็นว่า การสถาปนาเอสคริว่าขึ้นเป็นบุญราศีเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เช่นเดียวกับผู้คนอีก ราว 300,000 คน ที่ร่วมกันผลักดันให้กรุงโรมสถาปนาเอสคริว่าขึ้นเป็นนักบุญในปี พ.ศ.2545

คนพวกนี้เป็นใครกัน?
โอปุส เดอี ไม่ใช่กลุ่มทางชีวิตจิตประเภทที่ชาวคาทอลิกทั่วๆ ไปจะขอให้ "รับฉันไปด้วย" แต่โอปุส เดอีเป็นกลุ่มชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีสมาชิกที่มุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่ (85,500 คนทั่วโลกและมีเพียง 3,000 คนในสหรัฐฯ) หลายๆ คนในกลุ่มนี้มาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนาอย่างมาก และได้เตรียมตัวมาพร้อมเพื่อยอมรับในหลักคำสอนของพระศาสนจักรที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักอย่างเช่นการประณามการคุมกำเนิด สมาชิกได้เข้าร่วมในกระบวนการ "สร้างเสริมพลัง" ทางชีวิตจิตที่เข้มงวดมากซึ่งเน้นหลักคำสอนและการภาวนาอย่างคร่ำเคร่งตามแนวทางของพระศาสนจักร บวกกับปรัชญาของเอสคริว่าเรื่องการงานและการประพฤติตนเองให้ศักดิ์สิทธิ์ แกนนำหลักของโอปุส เดอีนั้นคือกลุ่มที่เรียกว่าเป็น "นิวเมอรารี่ส์ (numeraries)" มีจำนวนอยู่ประมาณ 20% ซึ่งแม้จะยังเป็นฆราวาสอยู่ แต่ก็ปฏิญาณว่าจะครองตนเป็นโสด แล้วมาอาศัยอยู่รวมกันที่ "ศูนย์" ซึ่งแบ่งชายหญิงซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 1,700 แห่ง และขยายการฝึกอบรมถึงระดับที่ไม่แพ้พระสงฆ์เลยทีเดียว ขณะที่ทุกคนยังออกไปทำงานอยู่เช่นเดิม

โดยรายได้ส่วนใหญ่จากการทำงานของพวกเขานั้นจะตกไปเป็นสมบัติของกลุ่ม การใช้ชีวิตที่เกือบเหมือนนักบวชเช่นนั้นทำให้มีทั้งผู้ที่มีใจปรารถนาอันแรงกล้าซึ่งพึงพอใจอย่างมากและก็ผู้ที่ถอนตัวออกมาอย่างขมขื่นที่สุดด้วย โอปุส เดอีค่อยๆ ขับเคลื่อนสมาชิกกลุ่มน้อยของพวกเขา ไปสู่การดำเนินชีวิตแบบสมณภาพแล้วอิทธิพลของพวกเขา ที่มีต่อฆราวาสส่วนใหญ่ก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

ประมาณ 70% ของสมาชิกทั้งหมดซึ่งเรียกว่าเป็น "ซูเปอร์นิวเมอรารี่ส์ (Supernumeraries)" นั้น จะดำเนินชีวิตค่อนข้างเหมือนกับชาวโลกทั่วไปกว่ามาก พวกเขาจะเพ่งจิตพิจารณาการดำรงชีวิตปกติของพวกว่าสอดคล้องกับกฎของโอปุส เดอี วันละสองชั่วโมง หรืออาจเรียกว่าเป็นการรำพึงย้อนหลัง สำหรับพวกเขาหลายๆ คนที่มีครอบครัวขนาดใหญ่ ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางของโอปุส เดอีนั้นจะมีพื้นฐานทางชีวิตจิตที่เข้มแข็งพอที่จะรับความวุ่นวายยุ่งเหยิงและสิ่งที่คลุมเครือในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ ตัวอย่างเช่น เคธี ฮิกกี้ชาวเมืองลาร์ชมอนต์ในนิวยอร์กกล่าวว่า ในขณะที่เธอต้องเลี้ยงดูบุตรถึงเจ็ดคนในช่วงระหว่างปี ค.ศ.19701980 (พ.ศ.2513-2523) ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โอปุส เดอีได้ให้ "สายธารแห่งสันติและความรื่นรมย์ในจิตใจ" แก่เธอ บรรดาสมาชิกนำความเคร่งครัดในหลักคำสอนไปใช้ในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นพวกเขาอาจจะเคยทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจในศีลธรรมหรือระมัดระวังมากนัก

ฮีลคนที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั้น ยังกล่าวอีกว่า โอปุส เดอี "ช่วยให้ทั้งชีวิตของคุณหลอมรวมกันเป็นการสนทนากับพระเจ้าแบบสัปดาห์ละ 7 วันๆ ละ 24 ชั่วโมง"

โอปุส เดอีเร้นลับสักเพียงใด?
ในบรรดาเป้าหมายและโครงสร้างองค์กร อันโดดเด่นของโอปุส เดอีนั้น สิ่งที่เป็นที่รู้จักดีที่สุด กลับเป็นเรื่องของความลึกลับ พวกเขามีคำทักทายแบบพิเศษที่ว่า "พักซ์ (Pax)" และ "อินแอทแทร์นุม (In Aeternum)" (ซึ่งแปลว่า "สันติสุข" และ "ในชั่วนิรันดร") ในปี ค.ศ.1950 พวกเขามีธรรมนูญกำหนดไว้ว่าห้ามเปิดเผยสมาชิกภาพของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการของศูนย์กลางที่ตนสังกัดอยู่ แล้วในปี ค.ศ.1982 ก็มีเอกสารใหม่ที่ออกมาปฏิเสธ "ความลึกลับหรือกิจกรรมที่เร้นลับ" และท่านโบห์ลิน สมณทูตประจำสหรัฐฯ ก็อ้างว่าสิ่งที่คนต่างเชื่อกันนั้นเป็นการเข้าใจที่ผิดๆ ซึ่งเป็นผลจากการที่พวกเขาไม่ได้รวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางนั่นเอง ท่านกล่าวอีกว่า "ผู้คน (ได้รับการฝึกอบรมแบบโอปุส เดอี) แล้ว ก็กลับไปอยู่ในท้องถิ่นของพวกเขา" ท่านกล่าวต่อว่า "ดังนั้น พวกเราจึงไม่เคยเดินขบวนพร้อมๆ กัน เพราะเราไม่ได้จับกลุ่มกัน แล้วพอคนอื่นไม่เห็นว่าเราออกมาเดินขบวน พวกเขาก็บอกว่า คนพวกนี้ต้องมีอะไรซ่อนเร้นอยู่แน่ๆž"

โอปุส เดอียังคงไม่ประสงค์ที่จะแสดงตัวสมาชิกของพวกเขาและก็มีหลายๆ คนที่ไม่อยากจะแสดงตนเองออกมา ในอังกฤษช่วงปลายๆ ปี ค.ศ.2004 รูธ เคลลี่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของรัฐบาลภายใต้การบริหารของพรรคแรงงาน ต้องใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะยอมออกมายืนยันว่าตนได้รับ "แรงสนับสนุนด้านจิตวิญญาณ" จาก โอปุส เดอี (สถานะที่แท้จริงของเธอนั้นยังไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดจนปัจจุบัน) เช่นเดียวกับสิ่งที่ อัลเลนได้แสดงไว้ในหนังสือของเขาที่ว่า โอปุส เดอี ยังคงไม่แสดงตนเป็นเจ้าของสถาบันต่างๆ เท่าจำนวนที่เป็นเจ้าของอยู่จริง สถาบันการศึกษา

ในสหรัฐฯ ของพวกเขามักจะมีชื่อเรียบง่าย เช่น เดอะไฮทส์ (the Heights) หรือโรงเรียนเตรียมอุดมนอร์ธริดจ์ (Northridge Prep.) เป็นต้น เขาแจ้งต่อไปอีกว่า อาคารสำนักงานใหญ่ประจำสหรัฐฯ ในนิวยอร์กซึ่งสูง 17 ชั้นนั้นสร้างเสร็จในปี ค.ศ.2002 โดยไม่มีป้ายถนนมาติดตั้งอยู่นานหลายปี อัลเลนนับดูแล้วว่ามีมหาวิทยาลัย 15 แห่ง โรงพยาบาล 7 แห่ง สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ 11 แห่ง และมีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมอยู่ถึง 36 แห่ง ทั่วโลก ดังที่โอปุส เดอีมักเรียกว่าเป็น "ผลงานของกลุ่ม" ซึ่งหมายความตรงกันข้ามกับทรัพย์สินส่วนบุคคล โอปุส เดอีนั้นภูมิใจในสถาบันอาชีวศึกษา 97 แห่ง ทั่วโลกที่พวกเขามีพอๆ กันกับสถาบันอื่นๆ เพราะนั่นทำให้ลดคำร่ำลือที่ว่าพวกเขาจะให้บริการเฉพาะคนรวยเท่านั้นลงได้บ้าง แต่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีโอปุส เดอีเป็นผู้ครอบครองสิทธิ์ตามกฎหมาย

ซึ่งพวกเขาก็ยอมรับแต่เพียงว่าพวกเขาได้ให้การสนับสนุนด้าน "การสร้างเสริมด้านหลักคำสอนทางศาสนาและชีวิตจิต" เท่านั้น คงจะต้องยกย่องในความยืนหยัดของอัลเลนและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของเขาที่ชื่อว่าโจเซฟ แฮร์ริส ที่สามารถประเมินออกมาได้ว่า ในสหรัฐฯ โอปุส เดอีนั้นมีอำนาจในการ "ควบคุมแบบสองชั้น" เหนือสถาบันเหล่านั้น โดยการส่งสมาชิกเข้าไปในคณะกรรมการบริหารของสถาบัน

อปุส เดอีร่ำรวยสักเพียงใด?

สมมุติฐานในเรื่องการถือครองทรัพย์สินทางอ้อมนั้น โดยทั่วไปแล้วย่อมจะสันนิษฐานกันว่าโอปุส เดอีกำลังซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่ และเรื่องเงินสกปรกก็เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของตำนานแห่งโอปุส เดอี มีข่าวลืออยู่สองเรื่องด้วยกันว่าทำไมสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2ถึงได้ชื่นชมกลุ่มพวกเขา ซึ่งก็ได้แก่ เรื่องที่พวกเขาให้การสนับสนุนสหภาพการค้าโซลิแดริตี4 และเรื่องการกู้วิกฤตการณ์ทางการเงินของธนาคารแห่งวาติกันในช่วงเวลาที่เป็นข่าวอื้อฉาวในปี ค.ศ.1982 เห็นได้ชัดว่าโอปุส เดอีนั้นไม่มีคำปฏิญาณเรื่อง การถือความยากจน พวกเขาค่อนข้างจะมีชื่อเสียงในเรื่องความใกล้ชิดกับคนมีฐานะหรือผู้ที่กำลังจะร่ำรวย ทั้งในวิทยาลัยชั้นสูงและสถาบันการศึกษาในเครือของพวกเขา (ในประเทศแถบละตินอเมริกา หลายคนที่วัดเคยมีความรู้สึกว่าพระสงฆ์ของโอปุส เดอีนั้นถวายมิสซาให้แก่ว่าที่ผู้ปกครองระบอบเผด็จการที่กำลังจะเลื่อนชั้นขึ้นมาด้วย) แม้ในแถบตัวเมือง โอปุส เดอีก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะอยู่ร่วมกับคนยากจนมากเท่ากับการพยายามเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นชนชั้นกลางแทน โบห์ลินยังได้แยกประเภทของสมาชิกพวกเขาออกมาแบบติดตลกว่ามีความแตกต่างจาก "พวกฟรันซิสกันที่รองเท้ามีรูพรุน ขับรถยนต์บุโรทั่ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีสัมผัสแห่งชีวิตจิตด้านความยากจน"

จากการศึกษาแฟ้มข้อมูลของหน่วยงานจัดเก็บภาษีของสหรัฐฯ (IRSINterbal Revenue Service) อัลเลนและแฮร์ริสพบว่าโอปุสเดอีมีทรัพย์สินอยู่ 344.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และประเมินคร่าวๆ ได้ว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ทั่วโลกของโอปุสเดอีนั้นประมาณ 2.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หากการประเมินนั้นถูกต้องจริงๆ แล้ว ยอดเงินนั้นก็มากพอๆ กับทุนทรัพย์ของมหาวิทยาลัยดุก (Duke University) เท่านั้น ซึ่งยอดเงินดังกล่าวนั้นยังห่างไกลจากระดับที่จะสามารถช่วยกอบกู้วิกฤติกาลทางการเงินให้กับวาติกันได้ แต่ยอดเงินจำนวนนั้นก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของภาพรวมที่แท้จริงเท่านั้น สมาชิกของโอปุสเดอีและผู้ที่เลื่อมใสในแนวทางของพวกเขาซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “ผู้ประสานงาน (Cooperators5)” นั้น สามารถแสดงความมีน้ำใจอย่างมากได้และเงินทุนที่ได้จากพวกเขาเหล่านั้นก็ยากที่จะติดตามตรวจสอบได้ รายงานผลการศึกษาของอัลเลนชี้ว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เงินบริจาคที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน จำนวน 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (นับว่าเป็นก้อนมหึมาในยอดทรัพย์สินของพวกเขาในสหรัฐฯ) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเงินทุนสำหรับคฤหาสน์ของพวกเขาในแถบวอชิงตัน

อาคารในแถบแมนฮัตตัน ลองลีอานั้นได้รับบริจาคมาจากชายหญิงคู่หนึ่งที่เพิ่งซื้อมาในราคาเพียง 7.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ คุณพ่อไมเคิล แบร์เรท์ พระสงฆ์ในสังกัดโอปุสเดอีซึ่งเป็นคุณพ่อเจ้าวัดของวัดน้อยแห่งหนึ่งในเมืองฮุสตัน เมื่อเร็วๆ นี้ก็สามารถเรี่ยไรเงินบริจาคได้ถึง 4.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อใช้สร้างอาคารแห่งใหม่ เขากล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าบรรดาผู้ประสานงานและซูเปอร์นิวเมอรารีส์คงบริจาคกันคนละ 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แน่ๆ เลย” ยอดเงินบริจาคจำนวนนั้น ซึ่งจะต้องนำเข้าบัญชีของสังฆมณฑลกัลเวสตันฮุสตัน (GalvestonHouston archdiocese) อย่างเป็นทางการ ย่อมจะไม่ได้ปรากฏอยู่แม้แต่ในบัญชียอดเงินที่พยายามรวบรวมมาของอัลเลนอย่างแน่นอน รวมถึงยอดเงินบริจาคอื่นๆ ในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ของโอปุสเดอีก็เช่นกัน

โอปุสเดอีมีอำนาจมากมายเพียงใด?
มีบางคนกล่าวว่าเรื่องลึกลับที่แท้จริงของโอปุสเดอีก็คือการแทรกซึมเข้าไปในวงการเมืองระดับนานาชาติ ระบอบการปกครองใหม่แนวอนุรักษ์นิยมของโปแลนด์ ได้รวมเอารัฐมนตรีและข้าราชการที่เป็นสมาชิกของโอปุสเดอีไว้ด้วย และตามคำกล่าวของผู้อำนวยการประจำกรุงวอร์ซอว์ของกลุ่มเองที่ว่า มีคนร่ำลือกันว่าสมาชิกของโอปุสเดอีที่นั่นเป็นถึงระดับคนสำคัญในวงการเมืองเลยทีเดียว ในเปรู พระคาร์ดินัลฮวน ลูอิส ชิปริอานี่ผู้เป็นพระคาร์ดินัลของกลุ่มโอปุสเดอีอย่างเปิดเผยคนแรกของพระศาสนจักร ก็ถูกมองว่าไปสนับสนุนนโยบายต่อต้านผู้ก่อการร้ายอย่างเกินความจำเป็นโดยระบอบการปกครองของอดีตประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ เขากล่าวถากถางคำกล่าวหานั้นโดยเขียนไว้ว่ากลุ่มที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็น “แนวหน้าของขบวนการทางการเมืองของพวกลัทธิมาร์กซิสต์และลัทธิเหมาทั้งสิ้น”

เป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว ที่ชาวคาทอลิกในวอชิงตันคอยจับตาจำนวนของคนดังที่เป็นสมาชิกของโอปุสเดอีอยู่ ทั้งนี้รวมถึงผู้พิพากษาแอนโทนิน สคาเลียและว่าที่ผู้พิพากษาโรเบิร์ต บอร์ก วุฒิสมาชิกริค แซนโทรัมและแซม บราวน์แบ๊ค นักเขียนบทความชื่อโรเบิร์ต โนแวกและอดีตผู้นำสูงสุดของสำนักงานสืบสวนกลาง (FBI – Federal Bureau of Investigation) ลูอิส ฟรีห์ ตัวเลขจากการนับนั้นไม่ได้มาจากการเดาแบบไร้เหตุผลเสียทั้งหมด ตัวอย่างที่มีก็ได้แก่ บุตรชายของฟรีห์เข้าเรียนที่โรงเรียนของโอปุสเดอีและน้องชายของเขาก็เคยเป็นนิวเมอรารี่ส์อยู่พักหนึ่ง ภรรยาของสคาเลียได้เข้าร่วมกิจกรรมของโอปุสเดอีและท่านผู้พิพากษาเองก็ยังสนิทสนมกับพระสงฆ์ของโอปุสเดอีท่านหนึ่งอีกด้วย สำหรับบราวน์แบ๊ค บอร์กและโนแวกนั้น ต่างก็กลับใจมาเป็นคาทอลิกภายใต้วงปีกของกลุ่มอีกด้วย มีหลายๆ คนที่ปฏิเสธข่าวลือเหล่านั้น (หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของเซนโทรัมเคยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าจะต้องย้ำอีกสักกี่หนถึงจะพอ ว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิก”) แต่สิ่งที่ได้แถมพกมาจากโครงการการเปิดตัวของโอปุสเดอีก็คือ การที่พวกเขาสามารถกล่าวได้อย่างอิสระแล้ว ว่าพวกเขาไม่มีผู้ทรงอิทธิพลในวอชิงตันเป็นสมาชิกแม้แต่คนเดียว

คำถามที่ซับซ้อนยิ่งกว่านั้นคือ โอปุสเดอีนั้นมีอิทธิพลต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเพียงใด โบห์ลินกล่าวว่า “โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราพยายามเลี่ยงการพูดถึงเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่นเดียวกับการที่จะพยายามไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” เขาหยุดชั่วขณะแล้วกล่าวต่อว่า “แต่หากว่าคุณกำลังพูดถึงเรื่องการทำแท้ง นั่นไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นประเด็นของคาทอลิก” เขากล่าวอีกว่า “มีประเด็นต่างๆ บางประเด็นที่เราแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่ามีจุดยืนอยู่เคียงข้างพระศาสนจักร และมีหลายๆ ประเด็นที่เป็นประเด็นร้อนอย่างมาก” แน่นอนว่าท่านไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของโอปุสเดอีเพื่อจะต่อต้านการทำแท้ง การทำการุณยฆาตและการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ แต่ผู้นำคณะซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนเค สตรีท ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยบรรดานักระดมเสียงสนับสนุน (Lobbyist) นั้น ย่อมสามารถจะแสดงตัวเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดในหมู่ผู้ที่ยึดถือตามจารีตได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเป็นแน่ สก๊อตต์ แอพเพิลบี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คาทอลิกในเมืองนอเตรอดาม (notre Dame) ประเมินว่าโอปุสเดอีสามารถแจ้งข่าวสารต่อ “ชาวคาทอลิกหัวอนุรักษ์นิยมถึงประมาณหนึ่งล้านคน” ได้โดยอาศัยโครงการต่างๆ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกและศรัทธาที่เคร่งครัดอันเป็นที่ประจักษ์ของบรรดาสมาชิก นั่นก็เพียง 1.5% ของชาวคาทอลิกจำนวนถึง 60 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ก็นับว่าเป็นกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่กระตือรือร้นซึ่งนักการเมืองจะต้องเอาใจ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ดีว่าทำไมแซนโทรัมจึงต้องไปปราศรัยในงานของโอปุสเดอี ในกรณีนี้เอสคริว่าเคยกล่าวไว้ว่า “ท่านเคยใส่ใจที่จะคิดบ้างไหมว่ามันช่างไม่ยุติธรรมสักเพียงใดที่ต้องละวางความเป็นคาทอลิกของตนไว้เมื่อตนจะเข้าร่วมสมาคมทางวิชาชีพ (หรือ) สภา ราวกับว่าจะต้องตรวจดูหมวกของตนเองให้ดีเสียก่อนที่หน้าทางเข้า?”

สมาชิกโอปุสเดอีต้องเฆี่ยนตนเองจริงหรือ?
ชายผู้ที่กำลังประกอบกิจใช้โทษบาปสำหรับตนเองแนะนำเพื่อนสมาชิก (Associate6) ของเขาให้คลุมศีรษะไว้ด้วยผ้าคลุมเสียก่อน แต่ผู้สังเกตการณ์ก็ไม่อาจแกล้งทำหูทวนลมได้ “แล้วจากนั้นอีกไม่นาน” ผู้เห็นเหตุการณ์ผู้นั้นกล่าว “ผมก็ได้ยินเสียงเฆี่ยนอย่างแรงด้วยแส้วินัย (Discipline7) ของเขา … มีเสียงดังเช่นนั้นอยู่กว่าหนึ่งพันครั้งเห็นจะได้ ด้วยจังหวะที่คงที่ พื้นนั้นเต็มไปด้วยเลือดเลย” นั่นไม่ใช่เนื้อความจากฉบับร่างของเรื่องรหัสลับดาวินชีหรอก แต่เป็นคำบรรยายถึงกิจวัตรของผู้ก่อตั้งโอปุสเดอีนามเอสคริว่าโดยผู้สืบทอดลำดับท้ายๆ ของเขาเอง ซึ่งมีบันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของเอสคริว่า เขาเองนั้นคอยย้ำอยู่เสมอว่า ผู้อื่นไม่ควรจะทำการกระทำอันรุนแรงตามอย่างเขา แต่สำหรับนิวเมอรารี่ส์แล้ว แม้จะไม่ได้บังคับ แต่ก็ถูกคาดหวังให้สวมซิลิส (Cilice) ซึ่งเป็นโซ่เล็กๆ ที่มีหนามหันเข้าด้านใน เอาไว้รอบๆ บริเวณขาอ่อนวันละสองชั่วโมงและให้เฆี่ยนตนเองเป็นระยะเวลาสั้นๆ ทุกสัปดาห์ โดยใช้แส้ที่ทำด้วยเชือกที่เรียกกันว่าแส้วินัย

แทบจะไม่มีการยกเว้น แม้ผู้ที่ถอนตัวจากกลุ่มมาอย่างโกรธขึ้งก็ไม่อ้างว่าการทรมานตนเอง เช่นที่เรารู้กันนั้น เป็นเหตุของการถอนตัวออกจากกลุ่ม ลูซี่ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยนิเมอรารี่ส์เล่ากับไทมส์แมกกาซีนว่าการทรมานตนเช่นนั้น “ไม่มีอะไรเลย มันไม่เหมือนในรหัสลับดาวินชีหรอก” ชาวคาทอลิกทั้งที่เป็นฆราวาสทั่วๆ ไปและผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น รวมถึงแม่ชีเทเรซาด้วย ต่างก็เคยทรมานตนเองเพื่อจะได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในความเจ็บปวดทรมานขององค์พระคริสตเจ้าและของชาวโลกด้วย พระสังฆราชโฮเซ่ โกเมซแห่งซานอันโตนิโยผู้เป็นสมาชิกของโอปุสเดอี ได้เล่าถึงความผูกพันระหว่างรากฐานของโอปุสเดอีกับการทรมานตนไว้ว่า “ในวัฒนธรรมสเปน นั้นคุณมองดูที่ไม้กางเขนแล้วก็เห็นว่ามีเลือดเต็มไปหมด พวกเราคุ้นเคยกับการเสียสละความสุขส่วนตนด้วยการรับความเจ็บปวดทางกายมาเนิ่นนานแล้ว”

แล้วเรื่องที่ลือกันเกี่ยวกับการควบคุมความคิดนั่นล่ะ จริงหรือไม่?
อัลเลนชี้ให้เห็นว่าการพลีกรรมด้วยการทรมานตนเองนั้นก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ ก็เพราะเป็นสิ่งที่สามารถยกมาเป็นตัวอย่างว่ามีการประพฤติตนอันโหดร้ายทารุณอยู่ในหมู่ชาวโอปุสเดอี ซึ่งน่าจะต้องมีอิทธิพลบางอย่างครอบงำอยู่เหนือสมาชิกของกลุ่มทั้งทางกายและในด้านจิตใจอยู่ด้วย มีเรื่องราวอันน่าระทึกใจมากมายที่เล่าขานกันโดยผ่านทางผู้ที่เคยเป็นนิวเมอร์รารี่ส์ไปยังงบรรดานักหนังสือพิมพ์ และยังมีการนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านกลุ่มของโอปุสเดอี (odan.org) อีกด้วย มีหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวหาที่ว่ามีการหลอกลวงให้ผู้คนมาเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่ม โดยที่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกเหล่านั้นไม่ได้ทราบล่วงหน้า ว่ากิจกรรมที่พวกเขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมนั้นถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มโอปุสเดอี หรือบรรดานิวเมอร์รารี่ส์ของกลุ่มเลย ซึ่งเมื่อพวกเขาได้มาทราบภายหลัง โอปุสเดอีก็ออกมาเรียกร้องให้พวกเขาเซ็นเช็คให้และพวกเขาต้องขัดใจกันกับสมาชิกในครอบครัวของตน ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว เพลงที่พวกเขาเล่นและสื่อสิ่งพิมพ์ของพวกเขาก็ล้วนแต่ดูน่าสงสัยว่ามีการควบคุมเอาไว้ อีกทั้งพวกเขาก็จะต้องรายงานพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่นที่ไม่เป็นไปตามกฎอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “แก้ไขความประพฤติที่ผิดตามแบบอย่างแห่งภราดรภาพ (Fraternal Correction)” ในหมู่พวกเขาเอง นอกจากนี้บรรดาผู้อำนวยการศูนย์ฯ ต่างก็ถูกมองว่าเป็นเช่นจอมเผด็จการน้อย การร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่ถูกส่งไปยังบรรดาพระสังฆราชประจำท้องถิ่นนั้นก็ไร้ผล ด้วยฐานะแบบกึ่งอิสระของโอปุสเดอีนั่นเอง บรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์โอปุสเดอียังอ้างอีกว่าเมื่อมีใครต้องการถอนตัวออกจากกลุ่มก็จะถูกข่มขู่ด้วยคำสาปแช่งต่างๆ นานา มีผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนที่เคยช่วยผู้ที่ประสงค์จะถอนตัวออกจากกลุ่มให้ออกมาได้กล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า โอปุสเดอีนั้นเป็นเหมือนกลุ่มคนคลั่งศาสนา และมาร์ติน ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ก็ยืนยันว่าเขาจะได้รับโทรศัพท์ปีละ “หลายๆ โหล” จากบรรดาผู้ปกครองที่กล่าวหาว่ากลุ่มโอปุสเดอีนั้นล้างสมองหรือทำให้เด็กๆ ที่เข้าเป็นนิวเมอร์รารี่ส์นั้นทิ้งครอบครัว

โอปุสเดอีโต้ว่าผู้ที่ถอนตัวออกจากกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นและอัลเลนก็กล่าวถึงศูนย์ฯ ของโอปุสเดอีซึ่งเขาได้เคยมีโอกาสไปเยือนมาแล้วว่ามีบรรยากาศร่าเริงมีชีวิตชีวา โบห์ลินแก้ข้อกล่าวหาที่ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกนั้นไม่ทราบมาก่อนว่ากลุ่มโอปุสเดอีคาดหวังสิ่งใดจากพวกเขา ด้วยการชี้ถึงประเด็นที่ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะต้องผ่านขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมซึ่งยาวนานถึง 18 เดือนมาก่อนแล้วทั้งสิ้น เขากล่าวว่าในกลุ่มคนของโอปุสเดอีซึ่งเขาอ้างว่าไม่ได้มีสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นนัก “คุณไม่มีทางที่จะป้องกันทุกคนไม่ให้ทำอะไรผิดพลาดเลยโดยสิ้นเชิงหรอกนะ” แล้วก็กล่าวอีกว่าองค์กรนี้ได้เติบใหญ่ขึ้นอย่างมากแล้ว “ผมเคยดูแลศูนย์ฯ เช่นเดียวกับคนในวัย 25 ปี” โบห์ลินซึ่งขณะนี้อายุได้ 51 ปีแล้วนั้น กล่าวย้ำว่า “ซึ่งมาถึงจุดนี้แล้ว เราก็หวังว่าคงมีคนที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้นแล้วจริงๆ องค์กรที่ยังอ่อนหัดอยู่นั้นก็ย่อมจะต้องแตกต่างไปจากองค์กรที่มีประสบการณ์มายาวนานแน่ๆ สำหรับคนที่ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจเหล่านั้นแล้ว สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการพยายามที่จะขออภัย แล้วก็หวังว่าผู้คนเหล่านั้นคงจะเข้าใจได้ จากนั้นก็ดำเนินชีวิตของพวกเราต่อไป ก็เพียงเท่านั้น”

โอปุสเดอีในอนาคตจะเป็นอย่างไร
นับตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาเมื่อปีที่แล้ว ก็มีข่าวลือกันว่าโอปุสเดอีอาจจะได้รับบทเป็นตัวแทนในการจัดการประชุมลับเพื่อการเลือกตั้งในที่สุด แต่แล้วพระคาร์ดินัลโจเซฟ รัตซิงเกอร์กลับไม่ต้องการให้มีตัวแทน และสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่นี้ ก็อาจจะใส่ใจที่จะช่วยเหลือโอปุสเดอีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น เมื่อเทียบกับเรื่องการทำให้ระบบฐานานุกรมของพระศาสนเข้มแข็งขึ้น ทว่า ผู้นำระดับสูงลำดับที่สองของโอปุสเดอี ซึ่งได้แก่ท่านเฟร์นานโด โอคารีซ์ (Fernando Oc?riz) นั้นเคยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับท่านรัตซิงเกอร์ในขณะที่ท่านยังรับบทบาทเชิงอนุรักษ์นิยมอันยิ่งใหญ่ครั้งล่าสุด ในฐานะประธานสมณกระทรวงว่าด้วยพระสัจจธรรมและข้อความเชื่อ (The head of the Congregation of the Doctrine of Faith) ได้แก่ งานเรื่อง พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระเจ้า (Dominus Jesus) การยืนยันถึงความสูงส่งของข้อความเชื่อตามแบบอย่างของคาทอลิก ว่าเหนือกว่าของศาสนาอื่นๆ สมาชิกท่านอื่นๆ นั้นก็เป็น “ผู้ให้คำแนะนำ (Consultor)” ให้กับสำนักซึ่งมีภารกิจอันสำคัญยิ่งแห่งนั้นด้วย แล้วกรุงโรมก็เต็มไปด้วยบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแห่งคริสตจักร (Canon Lawyer) ของโอปุสเดอี ยอห์น นาโวเน (John navone) นักเทวศาสตร์ชาวคณะเยซูอิตซึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกรกอเรี่ยน กล่าวยืนยันว่า “พวกเขาจัดว่าเป็นบุคคลสำคัญของวาติกันเลยทีเดียว”

อนาคตของโอปุสเดอีในสหรัฐฯ นั้นยังซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นอีก เมื่อไม่นานมานี้ บนชั้นที่ 16 ของอาคารสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ได้มีชาย 40 คนมาร่วมกันปฏิบัติกรรมฐานกิจ8 โดยมีราวสองในสามของกลุ่มพวกเขานั้นเป็นเพียงผู้มาเยือน บางคนได้ “พบเห็นการปฏิบัติกิจเช่นนั้น” เป็นครั้งแรกด้วยซ้ำไป ในขณะที่พวกเขานั่ง หลับตาอยู่นั้น ก็มีสมาชิกของโอปุสเดอีเปล่งเสียงร้องถามออกมาให้พวกเขาใช้เป็นบทรำพึงว่า “ฉันรู้ตัวดีหรือไม่ว่า ชีวิตตามแบบอย่างคาทอลิกนั้น คือการแสวงหาและติดตามองค์พระคริสตเจ้าไปอย่างกระชั้นชิด ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยสิ่งใดก็ตาม? ฉันได้ทุ่มเทการต่อสู้กับความต้องการภายในใจอย่างจริงจังแล้วหรือไม่? ฉันได้คอยแสวงหาโอกาสซึ่งมีอยู่มากมายเพื่อที่จะได้เสียสละความต้องการเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้างไหม? ฉันได้ยับยั้งความกระหายใคร่รู้ของฉันได้ดีพอแล้วหรือ”

คำถามข้อสุดท้ายนั้น บอกอะไรเราบางอย่างด้วย การยับยั้งความกระหายใคร่รู้นั้นไม่ใช่คุณงามความดีซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายในโลกตะวันตกสักเท่าไรนัก ซึ่งข้อนั้นอาจช่วยตอบข้อสงสัยได้ว่าทำไมฐานสมาชิกของโอปุสเดอีในสหรัฐฯ ตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาจึงมีระดับการขยายตัวที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าใดเลย และบางที อาจยังช่วยตอบคำถามอีกข้อ ที่ว่าทำไมจึงมีแรงกดดันในเชิงต่อต้านโอปุสเดอีมากนักได้อีกด้วย พระราชาคณะอาวุโสประจำชุมชนทางศาสนาอีกแห่งหนึ่งกล่าวกับนิตยสารไทมส์ว่า “ผมไม่เชื่อหรอกว่าโอปุสเดอีจะเป็นพวกลัทธิคลั่งศาสนา (Cult) หรือเป็นมาเฟีย (Mafia – องค์กรลับที่ผิดกฎหมาย) หรือพวกผู้กระทำผิดคิดร้าย (Cabal)” เพียงแต่ว่า “วิธีการของพวกเขานั้น เป็นวิถีในอดีตก่อนยุคของสภาสังคายนา พวกเขานั้นเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยก่อนที่จะมีสภาสังคายนาแห่งวาติกันครั้งที่สอง (The Second Vatican Council) เสียอีกและพวกเขาก็ไม่ประสงค์ที่จะมาเสวนากับสังคมอื่นๆ ที่พวกเขาได้พบ” ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยอธิบายถึงชาวคาทอลิกสัญชาติอเมริกันที่เปิดเผยตนเองโดยส่วนใหญ่เลย โดยพวกเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มชนที่ประพฤติตนตามแบบฉบับซึ่งยอมรับกันในยุคหลังสภาสังคายนาแล้วและกว่าร้อยละ 75 ของพวกเขานั้นต่อต้านแนวคิดที่ห้ามการคุมกำเนิด ความเห็นอกเห็นใจของคนกลุ่มนี้ต่อกลุ่มโอปุสเดอีนั้นค่อนข้างจะมีอยู่อย่างจำกัด และบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำไป เช่นกลุ่มผู้เรียกร้องเสรีภาพในพระศาสนจักรนั่น

ในทันทีที่พวกเขาประสบความสำเร็จ พวกเขาก็เข้าใจได้ต่อมาอีกนานหลายทศวรรษว่าในกรุงโรมนั้นไม่ได้ใจโน้มเอียงเข้าข้างพวกเขาเลย พวกเขาจึงรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง อัลเลนกล่าว “และเมื่อใดที่คุณมีความรู้สึกเช่นนั้น มันก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่จะต้องหาใครสักคนมารับคำตำหนิไปแทน”
หากความรู้สึกในแง่ลบที่มีต่อกลุ่มโอปุสเดอีนั้น เป็นเพียงการระบายโทษะต่อแนวทางของพระศาสนจักรเท่านั้นและถ้าความจริงเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ก็คงถือได้ว่า เดอะดาวินชีโค้ด เป็นเคราะห์กรรมที่เล็กน้อยที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อพระศาสนจักร จะอย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมไม่อาจจะหยุดยั้งกลุ่มผู้ที่ศรัทธาในวิถีแห่งโอปุสเดอี และชาวคาทอลิกแนวอนุรักษ์นิยมก็ย่อมจะไม่ไปขอคำแนะนำจากรอน เฮาเวิร์ดเป็นแน่ แต่การที่จะกดดันให้โอปุสเดอีเป็นองค์กรที่โปร่งใสขึ้นนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะมีส่วนช่วยได้ หากว่าองค์กรนี้ช่างไร้พิษสงและ “เติบใหญ่เต็มที่แล้ว” ดังเช่นที่ท่านโบห์ลินยืนยัน การเปิดตัวต่อสาธารณชนก็อาจกลายเป็นเกราะป้องกันบรรดาผู้ที่เสียสละตนเพื่อโอปุสเดอีได้ และบางทีอาจจะเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้มีผู้มาเข้าร่วมด้วยอีกมากก็เป็นได้ หากว่าชาวคาทอลิกสัญชาติอเมริกันทวีจำนวนทั้งคนเชื้อสายสเปนและพวกอนุรักษ์นิยมมากขึ้นๆ ดังเช่นที่กำลังเป็นอยู่เช่นนั้นจริงๆ

นั่นคือผลลัพธ์ที่พระคาร์ดินัลจูเลี่ยน แฮร์แรนซ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสันตะสำนักในสังกัดของโอปุสเดอีคาดหวังไว้ เขากล่าวว่า นานมาแล้ว เมื่อครั้งที่ท่านกำลังตรวจแก้หนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยฉบับหนึ่งอยู่ มีคนส่งเรื่องที่กล่าวอ้างว่าโอปุสเดอีมีส่วนร่วมในการสมคบคิดแผนร้ายที่มีอยู่ทั่วโลกด้วย และด้วยใจลุ่มหลงในเสน่ห์ของเรื่องดังกล่าวนั้น แฮร์แรนซ์ก็เริ่มไปพูดคุยกับบรรดาสมาชิกของโอปุสเดอี แล้วตัวเขาเองก็ได้กลายเป็นสมาชิกของกลุ่มไปโดยปริยาย เขาเล่าว่า “บทความนั้นเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา แล้วตอนนี้ผมก็อยู่ที่นี่ไงล่ะ ผมกลายเป็นพระสงฆ์ ผมได้มายังกรุงโรม ได้เป็นพระสังฆราชแล้วขณะนี้ก็เป็นพระคาร์ดินัล ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพียงเพราะว่า ผมไปอ่านบทประพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของโอปุสเดอีนั่นแท้ๆ เลย”

ั จากการรายงานของจอร์แดน บงฟองต์ มาร์ก ธอมป์สัน/วอชิงตัน – ดอลลี่ มัสคาเรยาส/เม็กซิโกซิตี้ จากการรายงานของฌอน สกัลลี่ แคโรไลนา เอ ไมแรนดา/นิวยอร์ก – อแมนดา เบาเวอร์/ซานฟรานซิสโก – เจฟ อิสเรลลี่/นครวาติกัน – ลูเซียง โชแวง/ลิม่า
1 Opus Dei – เป็นคำภาษาละตินมีความหมายว่า ผลงานของพระเจ้า (The Work of God)
2 The Da Vinci Code – นวนิยายเรื่องเดอะดาวินชีโค้ดใช้ชื่อว่ารหัสลับดาวินชี ซึ่งภาพยนตร์ที่อ้างอิงจากนิยายเรื่องนี้เมื่อมาฉายในประเทศไทยใช้ชื่อว่า เดอะดาวินชีโค้ด รหัสลับระทึกโลก
3 Octopus Dei – หมึกยักษ์ของพระเจ้า คำว่า Octopus หรือหมึกยักษ์นั้นถูกนำมาใช้เรียกองค์กรเช่นบริษัทข้ามชาติซึ่งมีเครือข่ายโยงใยและการควบคุมหลักๆ มาจากศูนย์กลาง
4 Solidarity trade union – กลุ่มสหภาพการค้าก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2523 ในโปแลนด์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่จำนวนสมาชิกและอิทธิพลทางการเมือง จนกลายเป็นภัยที่คุกคามต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของโปแลนด์ ด้วยการให้ทุนสนับสนุนแก่การประท้องของผู้ใช้แรงงาน และการประท้วงในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
5 Cooperators – เป็นคำที่สมาชิกของโอปุสเดอี ใช้เรียกผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกซึ่งให้การสนับสนุนแก่กลุ่มของพวกเขา ด้วยการภาวนา การทำงานอาสาและการบริจาคทรัพย์สิน
6 Associate – เป็นคำที่สมาชิกของโอปุสเดอีใช้เรียกสมาชิกซึ่งประพฤติปฏิบัติตามแนวทางอันคร่ำเคร่งด้านชีวิตจิต ในการดำเนินชีวิตแบบโอปุสเดอี รวมถึงการนครองตนเป็นโสดแต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่พำนักหรือศูนย์กลางของกลุ่ม
7 Discipline – เป็นคำที่สมาชิกของโอปุสเดอีใช้เรียกแส้ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นๆ ขนาดเล็กซึ่งสมาชิกจะใช้ในการเฆี่ยนตนเองสัปดาห์ละครั้ง ในระหว่างการรำพึงขณะสวดภาวนา
8 Contemplation – การกำหนดจิตภาวนาด้วยการเข้าฌาน ซึ่งกล่าวกันว่าลึกยิ่งกว่าการทำสมาธิธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป

 

Upload 8 Sep 2005