ศาสนาและศรัทธา

(1) จดหมายเปิดผนึกถึงพระสันตะปาปา

คัดจากอุดมสาร ปี 29 ฉบับที่ 30 ประจำวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2005 หน้า 15
(ป.ล. “อุดมสาร” ขอเสนอว่า ควรอ่านด้วยการใช้วิจารณญาณ ไม่ต้องเชื่อทั้งหมด แต่ควรจะพิจารณาสิ่งที่น่าสนใจไว้บ้าง ..... บรรณาธิการบริหาร)

กราบเรียนพระสันตะปาปา

ผมเป็นพระสงฆ์ลูกวัดในชุมชนชานเมืองแห่งหนึ่งของมุมไบ (เมืองหลวงของรัฐมหาราช ทรา อินเดีย) มิสซาวันอาทิตย์ที่วัดนี้มักแน่นขนัดไปด้วยผู้คน แม้จะเป็นมิสซาในวันธรรมดา การทำนพวาร หรือกิจกรรมการสวดภาวนาในโอกาสต่างๆ ตลอดทั้งปี ก็มีคนเข้าร่วมค่อนข้างมากเช่นกัน แต่ผมรู้สึกว่าชุมชนของเราค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับรูปแบบพิธีกรรมมากกว่าความเข้มแข็งของจิตวิญญาณ เพราะว่าผมมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณกับชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้

บางทีการที่เป็นเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป ซึ่งมีประชากรโยกย้ายเข้าออกอยู่เสมอ ตลอดจนวิถีชีวิตและระบบคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ความรู้สึกว่าเป็นชุมชนไม่ค่อยดำรงอยู่จริง บ่อยครั้งกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว ก็กลายเป็นเพียงแค่การโอ้อวดกันภายในชุมชน แต่ท้ายที่สุดผมก็รู้สึกได้ว่ามีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ผูกพันกัน และต้องการที่จะทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

ขณะนี้เราเรียกตัวเองว่าชุมชนคริสตชน (Christian Community) ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ในเขตวัด ในบรรดากลุ่มเหล่านี้ที่ผมรู้จัก มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่พบปะกันในบางโอกาส เพื่อร่วมในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและรับประทานของว่างหลังจากนั้น แต่หลายคนในกลุ่มอยากจะปลีกตัวกลับก่อนที่การพบปะจะจบด้วยซ้ำ ผมสงสัยว่าคงเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่ามีงานอื่นๆ ที่น่าทำกว่า หรือพวกเขาอาจไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก็เป็นได้

มีวัดหลายวัดในเขตชานเมืองที่มีกำลังคนเพียงพอและมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรามีพระสงฆ์จำนวนน้อยมากที่มีเวลา มีความอดทน และมีความสามารถที่จะเข้าถึงชีวิตของสัตบุรุษ เข้าถึงเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเขาเหล่านั้นในแต่ละวันของการเดินทางฝ่ายจิตวิญญาณ

บางทีเรื่องที่ผมกล่าว ดูจะให้ภาพในแง่ลบเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพราะเหตุผลเหล่านี้ดอกหรือที่เป็นเหตุทำให้สัตบุรุษหันหลังให้วัด และเข้าร่วมในกลุ่มความเชื่ออื่นๆ กลุ่มเหล่านั้นดูเหมือนจะให้ความรู้สึกของการเป็นชุมชน มิตรภาพ และให้การสนับสนุนในด้านอารมณ์ความรู้สึก

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีกลุ่มใดและจำนวนเท่าไหร่ในวัดของเราที่รู้จริงๆ ว่าความเชื่อของพวกเขานั้นคืออะไร พวกเขาดูจะไม่มีคำถามในใจเลย และยังไม่เคยค้นหาคำตอบที่แท้จริงอีกด้วย พระศาสนจักรที่ไม่ใช้ความคิดนี้อาจเป็นที่ยอมรับได้ในช่วงยุคกลางเท่านั้น แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผมสงสัยว่าจะมีคนสักกี่คนที่จะยังคงไปวัด ถ้าพวกเขาได้ตระหนักว่าการหาความเชื่อมโยงไม่ได้ระหว่างพิธีกรรมในวัด กับชีวิตประจำวันของเขานั้น เป็นเรื่องร้ายแรงทีเดียว

แน่ละ ในปัจจุบันนี้มีการจัดหลักสูตรด้านเทววิทยาเพื่อให้การศึกษาแก่สัตบุรุษ แต่หลักสูตรเหล่านั้นก็เป็นเพียงการให้ข้อมูลเท่านั้น หลายคนที่เข้าเรียนเห็นว่าเป็นแค่การเข้าฟังบรรยาย ไม่มีส่วนใดในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียน

ผมคงไม่ได้ฟันธงว่าสิ่งเหล่านี้ผิดหรือถูก แต่ผมรู้สึกได้และยังได้ยินว่าเยาวชนคนหนุ่มสาวของเราเข้าร่วมในพิธีกรรมที่ทางวัดจัดขึ้น หรือจัดพิธีแต่งงานในวัดเพียงเพราะว่าพ่อแม่ของเขาต้องการเช่นนั้น พวกเขาไม่ได้เข้าใจความหมายของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หรือชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเลย บางคนถึงกับบอกว่าวัดของเราคงจะเป็นเช่นวัดในประเทศยุโรป คือวัดที่ว่างเปล่า คนรุ่นต่อไปคงจะไม่มีใครเข้าวัด การมองเช่นนี้อาจเป็นการมองในแง่ร้ายก็ได้ แต่ก็ไม่ควรที่เราจะละเลยสัญญาณเตือนที่ได้เกิดขึ้น

ผมเชื่อว่าทางสันตะสำนักจะสามารถส่งเสริมชุมชนในวัดของเราด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ อันดับแรก คือการส่งเสริมให้พระศาสนจักรใช้ความคิด จิตวิญญาณที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ส่งเสริมให้ตั้งคำถาม ทุกวันนี้ บรรดาผู้ที่เชื่อฟังอย่างไม่ลืมหูลืมตา ได้ผลิตพระศาสนจักรที่ประกอบด้วยผู้เลื่อมใสศรัทธาซึ่งไม่สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายที่ยากลำบากของยุคสมัยได้

สันตะสำนักย่อมสามารถกระตุ้นเตือนบรรดาผู้ติดตามพระคริสต์ให้สำรวจจิตวิญญาณของตนเอง กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มพระจิต อาจเหมาะสมกับเพียงบางคน แต่เข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่จะนิยมการสวดภาวนาที่มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนประกอบ

ผมยังได้ยินว่าขณะนี้มีกลุ่มที่เรียกว่า “โอปุส เดอี” ในเขตวัดของเราอีกด้วย ฆราวาสของเราบางคนเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ แต่บางคนกลัวเพราะมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่แสดงถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบทบาทของ “โอปุส เดอี” และพระศาสนจักรคาทอลิก บางทีทางสันตะสำนักอาจช่วยชี้แจงในเรื่องข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ได้

พระศาสนจักรท้องถิ่นจะสามารถสืบทอดต่อไปอย่างมีความหมายได้ หากพระศาสนจักรกล้าเผชิญกับคำถามต่างๆ ที่ยากจะตอบ เช่น พระสงฆ์มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้บริหารหรือเป็นมืออาชีพในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นผู้อภิบาลหรืออะไรคือบทบาทของฆราวาส ในศตวรรษที่ 21 นี้ เราจะยังคงรับได้อยู่อีกหรือ หากว่าเรามีผู้นับถือศาสนาที่ตามืดบอด เชื่อแต่ในสิ่งที่ถูกสั่งสอน และให้ความสำคัญกับรูปแบบพิธีกรรมที่ไม่มีเนื้อหา

สันตะสำนักอาจช่วยส่งเสริมชุมชนของเราด้วยการกระตุ้นให้คริสตชนแสวงหาจิตวิญญาณที่แท้จริง โดยมากคนมักจะมีจิตใจที่ชอบโอ้อวดและวางตนเหนือผู้อื่น และการใช้อำนาจที่มักแสดงออกในแวดวงวัดของเราหรือในองค์กรในเขตวัดของเราเป็นเหตุให้คริสตชนถอยห่าง

ท่านอาจช่วยกระตุ้นพวกเราให้ค้นหาจิตวิญญาณแห่งการรับใช้อีกสักครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าพระศาสนจักรที่ขาดการถ่อมตน หรือไม่มีความสามารถที่จะเผชิญกับคำถามหินๆ เช่นนี้ จะมีชีวิตรอดได้ไม่นานนัก ไม่มีใครเตรียมตัวที่จะยอมรับงานหนักที่กองสุมกันนี้อีกต่อไป ฆราวาสจะค้นพบแนวทางใหม่ๆ แก่จิตวิญญาณของตน แนวทางที่ให้การยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ แนวทางที่เปิดกว้างสำหรับความเชื่อและศาสนาอื่นๆ

ถ้าท่านกล่าวกับชาวอินเดียในศตวรรษที่ 21 นี้ว่า พระศาสนจักรคาทอลิกคือผู้ครอบครองความจริงแต่เพียงผู้เดียวแล้วละก็ พวกเขาคงจะได้แต่หัวเราะ ประเทศซึ่งซับซ้อนเช่นอินเดียนี้ ได้ผ่านพัฒนาการของความเจริญรุ่งเรืองมานานนับศตวรรษ มีความร่ำรวยและหลากหลายของวัฒนธรรม บ้างก็อาจพร้อมรับเอาขนบธรรมเนียมและจิตวิญญาณของเราเข้าไว้ แต่คนส่วนใหญ่ยังคงคลางแคลงใจว่าเรานั้นเข้ากันได้ดีกับยุคสมัยเพียงไร?

Upload 8 Sep 2005

Go Top
Back to Home Page