คนบางแสน

 

ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์


ก้าวที่ 57 : คูหาฝังพระศพพระเยซูเจ้า


“ณ ที่ซึ่งเขาตรึงพระองค์นั้น มีสวนแห่งหนึ่ง ในสวนนั้นมีคูหาขุดใหม่ ยังไม่ได้ฝังผู้ใดเลย เขาจึงเชิญพระศพไปบรรจุ ณ ที่นั้น ทั้งนี้เพราะเป็นวันสับบาโตของชาวยิว และคูหานั้นอยู่ใกล้”
( ยน 19: 41-42 )


“ต่อมาโยเซฟ ชาวอาริมาเธีย ผู้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าแต่โดยลับ ได้ไปหาปีลาต ขออนุญาตปลดพระศพ  ปีลาตอนุญาต เขาจึงได้มาปลดพระศพลง นิโคเดมัสผู้มาเฝ้าพระองค์ครั้งแรกเวลากลางคืน ก็มาด้วย พร้อมมดยอบและไม้กฤษณาปนกัน หนักประมาณร้อยปอนด์ ทั้งสองนำพระศพพระเยซูเจ้า หุ้มห่อด้วยผ้ากับเครื่องหอม ตามธรรมเนียมฝังศพของชาวยิว” 
(ยน19:38-40 )


พระราชินีให้สร้างพระวิหารหลังใหญ่ครอบเนินกัลวารีโอ และพระคูหาไว้ด้วยกัน ในปัจจุบันพระคูหาอยู่ตรงกลาง ใต้โดมใหญ่มีสิ่งก่อสร้างเป็นบ้านหลังเล็กๆ (ภาษาลาตินเรียก Edicule) สร้างด้วยไม้มะกอกสีดำ สร้างครอบหลุมศพของพระเยซูเจ้า


ช่วงเวลาที่เราไปถึงวัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวลาใกล้เที่ยง มีนักแสวงบุญมากมายแน่นไปหมด
เราต้องเข้าแถวยาวสองแถว นักบวชกรีก คอยจัดให้เราเข้าไปในพระคูหาทีละ 2 คน


เราได้แต่เข้าไปกราบหรือจูบพระแท่นอย่างรวดเร็ว แล้วก็ถูกเชิญให้ออก ไม่ได้มีเวลาสังเกตเห็นอะไรมากนัก อีกทั้งเป็นเวลาที่ไกด์นัดร้านอาหารไว้ เราจึงต้องรีบไป แต่ก็ตกลงกันว่า เราจะขอกลับมาอีกในตอนบ่าย เพื่อมีเวลาที่พระคูหานี้มากหน่อย และหลายคนยังไม่ได้ช้อปเลย (??)


เราก็ได้กลับมาตามตั้งใจ คนน้อยลง เรามีเวลาบนเนินเขากัลวารีโอ ที่แผ่นหินวางพระศพ และในพระคูหา ได้สวด จุดเทียน และถ่ายรูป พร้อมทั้งเดินชมรอบๆ วัดซึ่งยังมีวัดเล็กวัดน้อยรายรอบ เป็นของนิกายต่างๆ อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน


ด้านหน้าทางเข้าแคบๆ มีเชิงเทียนขนาดใหญ่มาก ตั้งอยู่ 3 คู่ เหนือทางเข้า  แขวนตะเกียงเงิน 43 ดวง 
(ในวัดของกรีกออร์ธอร์ด๊อกซ์จะพบตะเกียงเงินมากมายเสมอ) เป็นของคาทอลิก กรีกออร์ธอร์ด๊อกซ์
และอาร์เมเนียนนิกายละ 13 ดวง ที่เหลือ 4 ดวงเป็นของนิกายคอปติกส์


  หลุมศพของพระเยซูเจ้าอยู่ข้างใน     


เหนือประตูทางเข้า เป็นภาพแกะสลัก มีภาพอัครสาวกทั้ง 11?


เหนือขึ้นไป เป็นภาพวาดพระเยซูเจ้ากลัคืนพระชนม์ชีพ


ภายในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกใหญ่หน่อย ชื่อวัดน้อยเทวดา มีก้อนหินที่เชื่อว่า “หนุ่มคนหนึ่งนั่งอยู่ แต่งกายด้วยเสื้อขาวยาว” (เทวดา) และบอกแก่มารีย์ทั้งสอง และสะโลเมว่า “พระองค์เสด็จกลับเป็นขึ้นมาแล้ว ไม่อยู่ที่นี่ดอก” (มก 16:1–6)


จากห้องแรก ผ่านประตูต่ำๆ เข้าไปเป็นห้องหลุมศพ มีพระแท่น และรูปภาพพระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนม์ชีพตั้งอยู่


แท่นนี้เป็นแผ่นหินอ่อนวางปิดหินที่เชื่อว่าเป็นที่วางรองรับพระศพอีกทีหนึ่ง


ณ จุดนี้ เรามีความรู้สึก 2 อย่าง หนึ่งคือความระทมทุกข์ เพราะพระองค์ถูกทรมาน ถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ อย่างที่สอง ความปิติยินดีในชัยชนะความตาย และพระสิริรุ่งโรจน์ ภายใต้หลังคาโดมที่สวยงามแห่งพระวิหารคูหาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้


Back to Mainpage